หน้าหลัก

  • หน้าหลัก

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ยูเนสโกยกย่อง “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ณ สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ ที่ประชุมมีมติประกาศยกย่องพระธรรมโกศาจารย์หรือ “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก และให้บรรจุรายการที่ประเทศไทยเสนอขอให้ยูเนสโกร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี ของท่านพุทธทาสภิกขุ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ไว้ในรายการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่นและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก ประจำปี ๒๕๔๙ – ๒๕๕๐ ด้วย

เหตุผลสำคัญที่ยูเนสโกได้ประกาศยกย่อง “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลกก็คือ การที่ท่านได้อุทิศตนเกือบตลอดชีวิตของการครองสมณเพศ เพื่อการเผยแพร่พระธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ประยุกต์ใหม่มีความร่วมสมัย เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน ใช้การถ่ายทอดด้วยภาษาที่ง่าย ๆ ไม่ยึดติดกับภาษาบาลีและสันสกฤตแต่ก็ไม่ทอดทิ้ง เนื่องจากภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นรากฐานสำคัญ ของการเรียนการสอนทางพระพุทธ ศาสนาของพระสงฆ์สามเณร ท่านมีเจตนาที่แน่วแน่ในการที่จะให้สังคมไทยและสังคมโลกประยุกต์หลัก ธรรมไปใช้ ทั้งระดับสังคมและบุคคล เพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติธรรม ยุติธรรม และให้มนุษย์อยู่ร่วมกันกับสิ่ง แวดล้อมได้อย่างกลมกลืน

“พุทธทาสภิกขุ” เป็นชาวไทยคนที่ ๑๘ ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก นับตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ เป็นต้นมา จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชื่นชมของประชาชนชาวไทยทั้งชาติ โดยเฉพาะชาวพุทธ เนื่องจากท่านเป็นพระสงฆ์ที่ได้ให้หลักธรรมคำสอนที่มีค่าอย่างสูงแก่ประชาชน มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งแก่พระสงฆ์ด้วยกันและประชาชนทั่วไป จนเป็นที่เคารพของชาวไทยและประชาชนทั่วโลก “พุทธทาสภิกขุ” มีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุปสมบทขณะอายุได้ ๒๐ ปี ณ วัดโพธาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ รับฉายาว่า “อินทปัญโญ” แปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ ก่อนอุปสมบท ท่านได้ตั้งใจไว้ว่าจะบวช เรียนเพียง ๓ เดือนเท่านั้น แต่เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมแล้ว ก็บังเกิดความซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา จึงล้มเลิกความตั้งใจที่คิดจะลาสิกขาตามกำหนดเดิมเสียสิ้น และนี่คือเหตุแห่งการบวชตลอดชีวิตของท่าน
“พุทธทาสภิกขุ” เป็นผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี ๒๔๗๕ สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทางศาสนาระหว่างกัน

มีผู้มาปฏิบัติธรรมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งสำคัญในการศึกษา ค้นคว้าวิชาการทางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ผลิตตำราและบุคลากรเพื่อใช้ในการเผยแพร่ธรรม ที่ถึงแม้ ว่าวันนี้จะไม่มีท่านอยู่ ณ ที่แห่งนี้แล้วก็ตาม แต่คุณความดีที่ท่านได้ฝากไว้ ก็ยังคงดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลกันไปเยี่ยมเยียนมิได้ขาด “พุทธทาสภิกขุ” ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ณ สวนโมกขพลาราม รวมอายุได้ ๘๗ ปี

ที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวานนี้ ( 21 ต.ค. ) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ในการประชุมสมัยสามัญของ ยูเนสโก มีมติให้บรรจุรายการที่ประเทศไทยเสนอขอให้ยูเนสโก ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบชาตกาล 100 ปี ของ พระธรรมโกศาจารย์ หรือพุทธทาสภิกขุ ไว้ในรายการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญ หรือผู้ที่มีผลงานดีเด่น และ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก ประจำปี 2549-2550 ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เป็นรายที่ 18 ของประเทศไทย สำหรับแนวทางในการพิจารณาการคัดเลือกบุคคลของทางยูเนสโกนั้น จะพิจารณาจากผลงานเป็นหลัก โดยบุคคลนั้นจะต้องมีผลงานเป็นแบบอย่าง อันดีเลิศในเรื่องของการส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ในการเสนอชื่อท่านพุทธทาสภิกขุนั้น มูลนิธิเสถียรโกเศศ นาคะประทีป เป็นผู้นำเสนอ โดยพิจารณาเห็นว่าท่านได้อุทิศตนเพื่อสั่งสอนธรรมะให้มนุษย์อยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม ที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ให้เป็นสวนป่าแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ทั้งพระ และฆราวาส ทั้งชาวไทยและต่างชาติ
“ท่านพุทธทาสภิกขุนับเป็นแบบอย่างของพระภิกษุสงฆ์ในการปฏิบัติธรรม ให้หลักธรรมคำสอนที่มีคุณค่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับชาวพุทธ และยูเนสโกจะร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบชาตกาล 100 ปี ของท่านพุทธทาสภิกขุ ในวันที่ 27 พ.ค. 2549 ด้วย ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี พุทธทาสภิกขุแล้ว และเตรียมที่จะเสนอครม.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการในระดับชาติเพื่อเฉลิมฉลอง โดยจะมีการจัดกิจกรรมทางวิชาการ การประชุมสัมมนา การเผยแผ่หลักธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วย” นายจาตุรนต์กล่าว
สำหรับประวัติของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ เกิดวันที่ 27 พ.ค. 2449 ที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งในระหว่างที่เดินทางมาเรียนเปรียญธรรม 4 ประโยค อยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ศึกษาการปฏิรูปพระพุทธศาสนาของประเทศศรีลังกา อินเดีย ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ทำให้ท่านเชื่อว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปจากที่พระพุทธองค์ได้ชี้แนะ ท่านจึงตัดสินใจกลับมาที่ อ.ไชยา และจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม และปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น จนทำให้หลายคนมองว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ รับจ้างคนคริสต์มาทำลายล้างพระพุทธศาสนา แต่ท่านก็รับฟังด้วยความเป็นกลาง จนในที่สุดท่านก็ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ไทย รวมถึงวงการศึกษาธรรมะของโลก ถึงกับได้รับการยอมรับว่า เป็น “เสนาบดีแห่งกองทัพธรรม” ในยุคหลังกึ่งพุทธกาล
ผลงานทางธรรมที่ท่านพุทธทาสภิกขุสร้างสรรค์ ไว้ เช่น การจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลารามและสวนโมกข์นานาชาติ การออกหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนาซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของไทยการพิมพ์หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ ซึ่งเป็นการรวบรวมปาฐกถาธรรมของท่าน นอกจากนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งมีหนังสือคำสอนกว่า 140 เล่ม แปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส 15 เล่ม ภาษาเยอรมัน 8 เล่ม และยังมีการแปลเป็นภาษาจีน อินโดนีเซีย ลาว และฟิลิปปินส์ด้วย นับได้ว่าหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุดของประเทศไทย ท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพที่สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2536 รวมอายุ 87 ปี นับได้ 67 พรรษา


ได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโก

1 ความคิดเห็น: